เมื่อพ่อแม่กำลัง "อัดเงินใส่การศึกษาลูก" เรื่องจริงของสังคมไทย ตีค่าใบปริญญาสูงเกิน

LIEKR:

ปัญหาคือ คุณค่าของใบปริญญา … พ่อแม่ กับ นายจ้าง มองไม่เท่ากัน

    เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า พ่อแม่ชาวไทย รักและห่วงลูกไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่หาก พ่อแม่ชาวไทย เอาแต่ "อัดเงินใส่การศึกษาลูก" แล้วอนาคตลูกหลานเราจะเป็นอย่างไร...

เมื่อพ่อแม่ชาวไทย กำลังอัดเงินใส่การศึกษาลูก

    พ่อแม่ชาวไทย รักและห่วงลูกไม่แพ้ชาติใดในโลก

    พ่อแม่ที่มีกำลัง จะจัดเต็มลูกรัก ตั้งแต่แรกตั้งครรภ์ ฝากท้องอย่างดี คลอดอย่างดี หมออย่างดี

    และเป็นพ่อแม่ที่ “ตีค่าการศึกษาลูก” สูงเวอร์อย่างยิ่ง

    เด็ก 2 ขวบเพิ่งเดินแข็ง

    เราก็ส่งเข้าเนอสเซอรี่ ปีละ 8 หมื่น กลัวลูกจะพัฒนาการช้าไม่ทันเพื่อน … กลายเป็นส่งลูกอายุน้อยเกินไปติดหวัดที่โรงเรียน เพราะเด็กยังไม่มีภูมิต้านทาน

    อนุบาลยันประถม

    เราจัดเต็ม ทั้งใน นอกหลักสูตร เด็กอนุบาล3 ต้องกวดวิชาสอบเข้าป.1 และเสริมด้วยวาดภาพ จินตคณิต ว่ายน้ำ ไวโอลิน อังกฤษ จีน ไทย เทควันโด้ อูคูเลเล่ ฯลฯ กลัวลูกจะเก่งไม่รอบด้าน กลัวจะน้อยหน้าเด็กข้างบ้าน ลูกเลิกเรียนเดินแทบไม่ตรงทาง (ผมว่า เรียนได้ แต่อย่าเยอะจัด จนเด็กร้องขอกลับบ้าน)

    มัธยม อมเปรี้ยวอมหวาน

    คราวนี้หนักเลย เรียนพิเศษตอนเย็นที่สยาม เสาร์อาทิตย์ จัดเต็มวัน พ่อแม่ยอมทรมานไปนอนบนทางเดินตึกอ.อุ๊ ตึกสยามกิตติ์ เพื่อส่งข้าวส่งน้ำลูกรัก ปิดเทอมไม่มีพัก ส่งลูกเรียนซัมเมอร์ยุโรป ออสเตรลีย บางทีเด็กไม่อยากไป พ่อแม่นี่แหละดันก้นให้ไป

    บางบ้านหมดเงินกับลูกปีละ 6-7 แสน ยังไม่ทันเข้ามหาลัยกดไปเป็นสิบล้าน!!!

    พอลูกเรียนจบ บางคนไปคาดหวังว่า ลูกฉันเลี้ยงมาอย่างพิเศษใส่ไข่ เพิ่มข้าว ดังนั้นจะจ้างลูกฉัน มันต้องแพงกว่าสิ …นี่ส่งเรียนไปสิบกว่าล้านนะ


    “ปัญหาคือ คุณค่าของใบปริญญา … พ่อแม่ กับ นายจ้าง มองไม่เท่ากัน”

    พ่อแม่ชาวไทย ตีค่าใบปริญญาลูกรักสูงมาก เพราะเราอยู่ในกระบวนการจ่ายเงินจริง มาอย่างยากลำบาก ยาวนาน 20 ปี นายจ้าง กลับตีค่าไม่สูงเท่า

    คำถามใหญ่ของเขามี 3 คำถาม คือ
        1. ลูกคุณทำอะไรเป็นบ้าง

        2. ลูกคุณเคยทำอะไรสำเร็จมาบ้าง และ

        3. ลูกคุณจะมาสร้างความสำเร็จอะไรให้ที่นี่


    อย่าลืมว่า ยุคนี้คือ ตลาดแรงงานที่เปิดกว้าง 

        เด็กอินเดีย ปากี พร้อมจะบินมาทำงานที่กรุงเทพ เขียนโค้ด เขียนโปรแกรม อังกฤษเป็นไฟ แถมขยันขันแข็ง

        เด็กฟิลิปปินส์ อินโด มาเลย์ พร้อมจะบินมาทำงานที่กรุงเทพ พวกเขาภาษาดีมาก ลอจิกดี คุมโปรเจคต์ พรีเซนต์ดีไม่แพ้ฝรั่ง

        เด็กจีน …ไม่ต้องพูดถึง ความขยันอ่าน ขยันขายของ ขยันพบลูกค้า ใจสู้ ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ โดนด่าไม่ยุบ พวกนี้คือยอดเซลล์แมน


    ปริญญา มหาลัย คณะ … มันเริ่มจะเบลอๆ ไม่ศักดิ์สิทธิ์ เหมือนรุ่นพ่อแม่เมื่อเด็กไทยต้องสอบสัมภาษณ์กับ Head Hunter สิงคโปร์ โดยมีนายจ้างเป็นฝรั่ง จีน อินเดีย

        แน่นอนว่าย่อมมีเด็กไทยบางคน ได้ไปต่อเจริญรุ่งเรืองโกอินเตอร์…แต่ก็มีจำนวนมากที่แป้กตั้งแต่อายุยังน้อย

        เมื่ออาชีพการงานเดิมๆ กำลังหดตัว..จาก Disruptive Technology

        เมื่อองค์กรกำลังปรับตัวให้ลีน(Lean)บาง ให้คล่องตัวมีประสิทธิภาพด้วยดิจิตอล …Digital Transformation

        เมื่องานดีเงินดี กำลังเต็มไปด้วยการแข่งขันที่สูงลิ่ว ด้วยตลาดเคลื่อนย้ายเสรีแรงงานเสรี… Globalizaion

        พ่อแม่จะใช้ชุดความคิดเดิม แบบสมัยรุ่นตัวเองเพิ่งเรียนจบ ก็คงไม่ได้

    หสต....ถ้าพ่อแม่ชาวไทย(ส่วนหนึ่ง)ที่ลงทุนกับการศึกษาลูกด้วยเงินจำนวนมากๆ และแนวโน้มมีแต่จะรุนแรงขึ้น

        เราจะลองประหยัดเงินบางส่วน แล้วใช้เงินก้อนเดียวกันนี้ เตรียมให้ลูกไว้ เริ่มทำธุรกิจ ได้ใช้ความพยายามลองผิดลองถูก ริเริ่ม สร้างสรร เป็นผู้ประกอบการ ในยุคสมัยที่อาชีพการงานไม่เป็นใจในอีก 10-15 ปีข้างหน้า

        เราจะลอง เผื่อเวลา จากการศึกษาที่จัดเต็ม(เกิน)ไป ให้เขาได้ลองเรียนรู้ ริเริ่ม ลองเขียนหนังสือ ลองเขียนโปรแกรมสร้างแอพ ลอง design ลองรับงานแปล ลองขายของ ลองลงทุน ฯลฯ

ลองหาเงินด้วยตัวเองให้ได้ ก่อนที่เขาจะจบมหาลัย

อันนี้ ช่วยเขาได้ ไม่แพ้การศึกษาในระบบที่แสนแพง

พ่อแม่ได้ภูมิใจ

ลูกได้ภูมิต้านทานและความแกร่ง

ที่มา : นิ้วโป้ง Fundamental VI

บทความที่คุณอาจสนใจ