ย้อนฟัง 2 วัยรุ่นตั้งใจอยากทำธุรกิจด้วยหัวใจ แต่สุดท้ายขาดทุนไป 17 ล้านบาท

LIEKR:

บทเรียนอันล้ำค่า! ย้อนฟัง 2 วัยรุ่นหนุ่มสาวเล่าประสบการณ์ทำ "ชานมกระป๋อง" ส่งขาย 7-11 ทำธุรกิจด้วยหัวใจ สุดท้ายขาดทุน 17 ล้าน

        สำหรับการทำธุรกิจแล้ว ไม่มีอะไรที่ง่ายและยากไปซะหมด ถึงแม้เราจะสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้แล้วแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะพยุงธุรกิจของเราให้อยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง และที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นแล้วมากมาย แต่อีกมุมหนึ่งของการทำธุรกิจก็มีความไม่สมหวังอยู่ ซึ่งเชื่อว่าเจ้าของธุรกิจจำนวนไม่น้อยต้องเคยพบเจอกับปัญหา "การขาดทุน"

        เช่นเดียวกับที่ 2 ยูทูบเบอร์ชื่อดังเจ้าของช่อง Bearhug อย่าง "ซารต์" หรือ "ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช" และ "กานต์" หรือ "อรรถกร รัตนารมย์" ได้ออกมาทำคลิปแชร์ประสบการณ์บทเรียนอันล้ำค่าหลังจากทำธุรกิจครั้งแรกในชีวิตส่งขายในร้านสะดวกซื้อ และขาดทุนไปทั้งหมด "17 ล้านบาท"

        สำหรับซารต์และกานต์ประสบความสำเร็จจากการทำช่องยูทูบ ที่ปัจจุบันมีผู้ติดตามมากว่า 3.56 ล้านคน จนกระทั่งต่อมาทั้งคู่ได้เปิดร้านชานมไข่มุกของเป็นของตัวเองในนามของ "Bearhouse" ซึ่งขายดิบขายดีคนต่อคิวซื้อกันแบบยาวเหยียด ประสบความสำเร็จขยายสาขาไปแล้วในปัจจุบันไปอีกเกือบ ๆ 10 แห่ง

        จากนั้นทั้งคู่ก็มีความคิดอยากจะต่อยอดธุรกิจ ด้วยการทำชานมกระป๋องภายใต้แบรนด์ "ซันซุ" (Sun Su) เพื่อไปขายในร้านสะดวกซื้อ หรือ 7-Eleven โดยขายในราคากระป๋องละ 35 บาท แต่ปรากฏว่าซารต์และกานต์ขาดทุนไป 17 ล้านบาทเลยทีเดียว

        โดยซารต์และกานต์เล่าถึงปัจจัยของการขาดทุนครั้งนี้ว่าไม่ใช่ว่าชานมนั้นขายไม่ได้ มันขายได้ แต่มันไม่มีกำไร โดยยกตัวอย่างเช่น ยอดขายขายได้ 100 ล้าน แต่เมื่อหักต้นทุนทั้งหมดแล้วปรากฏว่า ติดลบ 17 ล้าน 

        ซึ่งเกิดจากการที่ตนไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ในการนำสินค้าเข้าร้านสะดวกซื้อมาก่อน ตนไม่เคยรู้เลยว่าอนาคตต้องเจอกับการหมุนเงิน ภาษี ค่าจ้าง ต้นทุนแฝงต่าง ๆ ที่ต้องเจอในระหว่างทำธุรกิจ ซึ่งมารู้ตัวอีกทีคือขาดทุนไปแล้ว

        และอีกปัจจัยหนึ่งก็คือ "การไม่ยอมลดต้นทุน" เนื่องจากทั้งคู่จริงจังในเรื่องของรสชาติมากเกินไป โดยซารต์ยอมรับว่า ตนเป็นใส่ใจในรายละเอียดเรื่องรสชาติมากจึงเลือกสูตรชานมที่มีต้นทุนอยู่ที่ 40% ซึ่งถ้าอยากอยู่รอดต้องปรับสูตรด้วยการลดต้นทุน แม้จะมีสูตรอื่นที่สามารถเลี่ยงภาษีความหวานได้ และรสชาติไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก 

        แต่ถ้าปรับสูตรแล้ว ตนไม่มีความสุข "รู้สึกว่าถ้าปรับแล้วเราไม่ภูมิใจในรสชาติ ไม่ภูมิใจในตัวสินค้า สู้ไม่ผลิตเลยดีกว่า" ซารต์กล่าว


        นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ "ไทม์มิ่ง (Timing)" หรือระยะเวลาการบริหารความต้องการของลูกค้า ซึ่งแม้กระแสตอบรับจะดีแค่ไหน แต่หากไม่มีสินค้าขาย กระแสที่ว่าก็จะไม่สามารถแปลงมาเป็นเงินได้ โดยทั้งคู่ได้ยกตัวอย่างว่า อย่างสั่งผลิตของมา 1,000 กระป๋อง แต่ความต้องการลูกค้านั้น 2,000 กระป๋อง คือในช่วงเวลาที่คนต้องการมาก ตนกลับผลิตสินค้ามาไม่พอ แต่พอกระแสเริ่มลดลง ตนดันไปผลิตจำนวนมาก ทำให้เรื่องนี้ไม่มีความสอดคล้องกัน 

        นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ "อายุของสินค้า (Shelf-Life)" ที่ถือว่าเป็นอีกเรื่องสำคัญ สมมุติสินค้ามีอายุ 1 ปี ต้องส่ง Shelf-Life ต้องมีอายุมากกว่า 10 เดือนเป็นต้นไป เพราะทางร้านสะดวกซื้อต้องนำสินค้าไปกระจายต่อ ซึ่งถ้าส่งของที่อีก 6 เดือนจะหมดอายุ ก็จะทำให้ของไปเน่าหน้าร้านได้

        นอกจากนี้ทั้งคู่ยังเผยว่าที่ขาดทุนขนาดนี้อีกส่วนหนึ่งก็มาจากความเล่นใหญ่ใจโตของพวกตน ที่ลงทุนทำกระป๋องแบบสกรีนภาพ คือสกรีนลงในเนื้อกระป๋องเลย ก็ขาดทุนค่ากระป๋องไปอีก 3 ล้านบาท

        ซึ่งเป็นกระป๋องที่ไม่ได้ใช้แล้ว เพราะยกเลิกการผลิต ทั้งนี้ถ้าหากทำเป็นกระป๋องเปล่า ๆ ไม่สกรีนลงกระป๋อง แต่ทำเป็นพลาสติกคาดกลางกระป๋อง ก็ยังจะสามารถนำกระป๋องไปขายให้กับแบรนด์อื่นได้ แต่พอเป็นแบบนี้ก็ขายไม่ได้แล้ว ซึ่งอาจจะต้องเสียค่าทำลายกระป๋องอีกหลายแสน

        โดยทั้งคู่ก็ได้เผยว่าขาดทุนขนาดนี้ถามว่าเครียดไหม แน่นอนว่าตนเครียดมาก ๆ แต่ตนก็ไม่รู้จะเครียดไปทำไม ถ้าตนเครียดจะหาสิ่งดี ๆ เข้ามาใหม่ไม่ได้ ถือว่า 17 ล้านนี้เป็นค่าเรียน ถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิต ที่ไม่ต้องไปเรียนที่ไหนอีก

        โดยทั้งคู่ได้เผยว่า ยอมรับว่าตอนแรกคุยกันก็ลังเลว่าจะทำคลิปบอกดีหรือไม่ เพราะกังวลว่าการที่ตนทำธุรกิจขาดทุนอาจจะส่งผลที่ไม่ดีต่อภาพลักษณ์ เพราะปกติแล้วมันจะมีแต่คนออกมาเล่าความประสบความสำเร็จ หรือออกมาพูดเคล็ดลับความสำเร็จ สุดท้ายตนจึงตกลงกันว่า จะทำคลิปดังกล่าวเพื่อแชร์ประสบการณ์และเล่าให้ฟังเพื่อเป็นเคสตัวอย่าง

ชมคลิป

คลิปเปิดไม่ออก >>> กดตรงนี้ คลิ๊ก !!!! <<<

ที่มา : Bearhug

บทความที่คุณอาจสนใจ