ทีแรกมีแต่คนหัวเราะ ครูไทยคิดค้น "กาแฟขี้ควาย" ปัจจุบันส่งขายเมืองนอก กิโลละหมื่นบาท

LIEKR:

"ตอนแรกๆ ที่เล่าความคิดนี้ให้ใครๆ ฟัง เขาก็หัวเราะกัน แต่ผมมองเห็นข้อดีของควาย เลยเลือกทำ!"

        กาแฟ เครื่องดื่มคาเฟอีน ที่ผู้คนทั่วโลกมักนิยมดื่มกันในตอนเช้าๆ มีทั้งแบบร้อน แบบเย็น กาแฟสด กาแฟสำเร็จรูป กาแฟเพื่อสุขภาพ กาแฟดริป และอีกสารพัดสารพันกาแฟให้เหล่าคอฟฟี่ เลิฟเวอร์ได้เลือกดื่มกัน

        คุณสุรสิทธิ์ ปุสุรินทร์คำ วัย 53 ปี อาจารย์หัวหน้าแผนกเทคโนโลยีศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ผู้คิดค้น กาแฟขี้ควาย ขึ้นเป็นคนแรกของประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ ทีมงาม ว่า กาแฟขี้ควาย ถือเป็นไอเดียที่เกิดจากท้องถิ่น เพราะที่บ้านปางควาย หมู่บ้านเขาอาศัยอยู่นั้น เป็นหมู่บ้านที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอันสมบูรณ์และสวยงาม อีกทั้งยังเป็นหมู่บ้านที่ทำการเกษตรแบบดั้งเดิม

        คุณสุรสิทธิ์ ปุสุรินทร์คำ วัย 53 ปี อาจารย์หัวหน้าแผนกเทคโนโลยีศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ผู้คิดค้น กาแฟขี้ควาย ขึ้นเป็นคนแรกของประเทศไทย

        บวกกับด้วยหน้าที่การงาน ที่เป็นคนสอนให้เด็กมีความคิดใหม่ๆ มีความสร้างสรรค์ และนอกกรอบ จึงต้องมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ อยู่เสมอ และเขาก็มีโอกาสได้ทำงานจิตอาสาเกี่ยวกับศาสตร์ของพระราชา ที่พูดถึงเรื่องการมองให้ลึกซึ้ง อีกทั้งคุณสุรสิทธิ์ มีความต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนอยู่แล้ว และมีโอกาสได้ไปที่ดอยช้าง หนึ่งในแหล่งผลิตกาแฟรายใหญ่ของเชียงราย ที่มีการทำกาแฟขี้ชะมด กาแฟที่ได้ชื่อว่าดีและมีราคาแพงที่สุดในโลก

        การไปดอยช้างในครั้งนั้น ทำให้คุณสุรสิทธิ์ทราบว่า กาแฟขี้ชะมด ยังมีกลุ่มคอกาแฟที่ยังบริโภค และได้รับความนิยมอยู่เหมือนกัน แม้ว่าราคาจะสูงถึงกิโลละ 3 หมื่น และเป็นเหตุจุดประกายความคิด ให้เขานึกถึง ควาย สัตว์ที่โดนทุกคนมองในภาพลบมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ข้อดีของควายมีหลากหลาย คุณสุรสิทธิ์จึงเกิดไอเดีย ลองนำกาแฟมาให้ควายกิน และทำออกมาเป็นกาแฟขี้ควายนั่นเอง

        “ตอนแรกๆ ที่เล่าความคิดนี้ให้ใครๆ ฟัง เขาก็หัวเราะกัน แต่ผมมองเห็นข้อดีของควาย เลยเลือกทำ ก็ไปศึกษาการเลี้ยงชะมด เพื่อมาทำกาแฟขี้ชะมด แล้วก็มาลองกับควายดู โดยผมมีควายอยู่ 60 ตัว เป็นควายของชาวบ้านที่เห็นว่าเขาจะเอาไปขาย ก็ไปคุย ชักชวนให้เขามาทำงานร่วมกัน แรกๆ ควายมันก็ไม่กินหรอก แต่ก็มานั่งสังเกตว่า นอกจากพวกหญ้า ควายมันก็กินพวกฝักจามจุรีนะ เลยนำฝักจามจุรีมาผสมกับกากน้ำตาล แล้วหมักให้มีรสหวานๆ อมเปรี้ยว ลองเอามาให้ควาย นั่นแหละมันถึงได้กิน” คุณสุรสิทธิ์ กล่าว

        นอกจากนั้น เขายังอธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า เมื่อควายกินเม็ดกาแฟเข้าไปแล้ว เม็ดกาแฟจะย่อยอยู่ในท้องควาย 2 วันจึงจะถูกขับถ่ายออกมา เขาจึงจ้างให้ชาวบ้านแยกเม็ดกาแฟออกให้ โดยให้นำขี้ควายไปผสมกับปลายข้าวมาให้ไก่กิน พอไก่จิกกินก็ทำให้เห็นเม็ดกาแฟชัดขึ้น จากนั้นก็เอามาล้างน้ำ แกะเปลือกล้างเมือก แล้วก็ผึ่งให้แห้ง ทิ้งไว้ประมาณ 4 เดือน เพื่อให้ได้รสชาติและความหอม สามารถนำไปคั่วชงได้

        โดยค่าจ้างที่จ้างให้ชาวบ้านแยกเม็ดกาแฟให้ คุณสุรสิทธิ์ให้ราคากิโลกรัมละ 100 บาท โดยให้เหตุผลว่า ต้นทุนกาแฟขี้ควาย กิโลกรัมละ 2,000 บาท ซึ่งเขาตั้งราคาขายไว้กิโลกรัมละ 10,000 บาท ให้ราคาค่าจ้างกับชาวบ้านเท่านี้ ก็ถือว่ายุติธรรมดีแล้ว เพราะแค่อาศัยเอาขี้ควายไปขาย ได้กิโลกรัมละ 20–30 บาทเท่านั้น เป็นการช่วยหารายได้ให้ชาวบ้านอีกทางหนึ่ง

        จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว ที่กาแฟขี้ควายได้ถือกำเนิดขึ้น คุณสุรสิทธิ์ เล่าให้ฟังต่อว่า ในช่วงที่ทำขายแรกๆ นั้นไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังเอาไว้ ถึงขนาดที่ว่าเกือบจะเจ๊งไปเลยเหมือนกัน จนวันหนึ่งมีรายการหนึ่งได้มาเจอกาแฟขี้ควาย มาถ่ายทำ และออนแอร์ออกไป ก็ทำให้กาแฟขี้ควาย เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้เริ่มมีคนสนใจเข้ามาลองชิมและสั่งซื้อกลับบ้าน จึงทำให้มีรายได้ในระดับที่พออยู่ได้

        “กาแฟขี้ควายจะมีรสชาติขมและเปรี้ยว แต่ไม่มาก ซึ่งรสเปรี้ยวนั้นจะเปลี่ยนเป็นรสหวานชุ่มคอในเวลาต่อมา ซึ่งถือเป็นรสชาติใหม่ของวงการกาแฟ และกาแฟขี้ควายก็มีราคาถูกกว่ากาแฟขี้ชะมดและกาแฟขี้ช้าง ตอนนี้ก็มีคนไทยที่อยู่ต่างประเทศมาติดต่อขอเอาไปขายที่ต่างประเทศเหมือนกันนะ ซึ่งมันก็ตรงกับการตลาดที่ผมวางไว้ ว่าจะตีตลาดต่างชาติก่อนแล้วค่อยกลับมาเจาะตลาดที่ไทย เพราะด้วยนิสัยคนไทยน่ะ ถ้าต่างประเทศเขาฮิตอะไร เดี๋ยวบ้านเราก็ฮิตตาม” คุณสุรสิทธิ์ กล่าวมาอย่างนั้น

        กาแฟขี้ควาย จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 10,000 บาท, ขนาด 50 กรัม ราคา 500 บาท และหากใครอยากไปลองทานกันสดๆ ก็มีจำหน่ายในราคา ช็อตละ 150 บาท สามารถไปชิมได้ที่ปางควาย บ้านห้วยน้ำราด อำเภอแม่จันทร์ จังหวัดเชียงราย หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ที่เฟซบุ๊ก Surasit Pusurinkham

ที่มา : เฟซบุ๊ก Surasit Pusurinkham

บทความที่คุณอาจสนใจ