อดีตภารโรง พลิกชีวิตเป็นมหาเศรษฐี 600 ล้าน หลังไปเสนอ 1 ไอเดียให้ซีอีโอบริษัท

LIEKR:

การพลิกชีวิตเป็นเศรษฐีไม่ได้มีแต่ถูกหวย แค่มีไอเดียบางอย่าง ก็เปลี่ยนชีวิตตัวเองตลอดกาลได้เหมือนภารโรงคนนี้!

    บางครั้งชีวิตก็ไม่ได้อะไรง่ายๆ ด้วยโชค แต่ความสามารถของเราต่างหาก ที่เป็นตัวพิสูจน์ว่าจากคนยากไร้ จะพลิกขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหาร ถือครองทรัพย์สินมูลค่ากว่า 600 ล้านบาทได้ ซึ่งก็คือเรื่องราวของ "ริชาร์ด มอนตาเนส (Richard Montañez)" อดีตภารโรงผู้ยากไร้

    จุดเริ่มต้นของเขาเกิดขึ้นที่บริษัท Frito-Lay ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวหลายชนิดที่เราคุ้นตา เช่น มันฝรั่งทอดกรอบของ เลย์, โดริโทส หรือ ชีโตส เป็นต้น ย้อนกลับไปในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ทางบริษัทเริ่มประสบปัญหาด้านธุรกิจ มีคู่แข่งจำนวนมากและพวกเขาเริ่มไม่มีไอเดียที่จะผลิตสิ่งใหม่ๆ ขณะนั้น ซีอีโอของบริษัทจึงตัดสินใจประกาศต่อพนักงานกว่า 300,000 ว่าพวกเขาต้องการไอเดียที่แปลกใหม่

    ซีอีโอของบริษัทกล่าวว่า เขาต้องการให้พนักงานทุกคนทำตัวเหมือนเป็นเจ้าของบริษัท เพื่อให้ช่วยกันคิดวิธีให้บริษัทผ่านพ้นวิกฤตไปได้ และให้พนักงานทำงานอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งในขณะที่พนักงานส่วนใหญ่คิดเพียงการเรียกขวัญและกำลังใจพนักงาน กลับมีชายภารโรงคนหนึ่ง ที่มองและคิดในแบบที่ซีอีโอต้องการจริงๆ

    เขาคนนั้นคือ ริชาร์ด มอนตาเนส ชีวิตในวัยเด็กของเขาต้องเติบโตให้ห้องเช่าอิฐบล็อกเล็กๆ กับครอบครัวที่อาศัยร่วมกัน 14 ชีวิต ริชาร์ดดิ้นรนทำงานเพื่อหาเงิน จนเขาต้องยอมดรอปเรียนเพื่อมาทำงานในฟาร์มและโรงงาน จนกระทั่งมีโอกาสเข้ามาเป็นภารโรงที่บริษัท Frito-Lay โดยได้ค่าแรง 120 บาทต่อชั่วโมง (4 ดอลล่าร์) แต่การทำงานในบริษัทขนมขบเคี้ยว ทำให้เขาสนใจเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัท การผลิตและการตลาด รวมไปถึงงานขายด้วย

    ชายภารโรงตัดสินใจยกหูโทรศัพท์โทรหาซีอีโอบริษัท ซึ่งบทสนทนาจุดเริ่มต้นเปลี่ยนชีวิตของเขาถูกบันทึกไว้ดังนี้

    ซีอีโอ : "ที่นี่สำนักงานคุณเอ็นริโก นั่นใครพูด"

    ภารโรง : "ริชาร์ด มอนตาเนส จากสาขาแคลิฟอร์เนียครับ"

    ซีอีโอ : "คุณเป็นผู้บริหารสาขาแคลิฟอร์เนียงั้นรึ ?"

    ภารโรง : "เปล่าครับ ผมทำงานที่โรงงานในเมือง Rancho Cucamonga"

    ซีอีโอ : "โอ้ คุณเป็นรองประธานฝ่ายปฏิบัติการสินะ"

    ภารโรง : "เปล่าครับ ผมทำงานในโรงงานผลิต"

    ซีอีโอ : "คุณเป็นผู้จัดการหรือเปล่า ?"

    ภารโรง : "เปล่าครับ ผมเป็นภารโรง"

    แม้จะแปลกใจอยู่บ้าง แต่ซีอีโอก็ชื่นชมที่เขามีไอเดียที่คิดจะนำเสนอ เขาบอกให้ริชาร์ดเตรียมข้อมูลของเขามานำเสนอโดยให้เวลา 2 สัปดาห์ มันเป็นโอกาสที่ริชาร์ดไม่เคยคิดว่าเขาจะได้ ภารโรงวิ่งไปที่ห้องสมุดเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกลยุทธ์การตลาด และเริ่มเตรียมงานนำเสนอของเขา

    2 สัปดาห์ต่อมา ริชาร์ดก็ได้เข้าไปอยู่ในห้องประชุมที่เต็มไปด้วยผู้บริหาร เขาหวาดกลัวและตัวสั่นเทามาก แต่เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วก็มีแต่ต้องเดินหน้าต่อ ริชาร์ดนั่งตรงข้ามซีอีโอ ก่อนเริ่มอธิบายสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากงาน เขาเสนอว่า "บริษัทนี้ไม่มีสินค้าสำหรับลูกค้าชาวลาติน"

    ริชาร์ดอธิบายว่า ตลาดของชาวลาตินพร้อมรองรับขนมขบเคี้ยวมาก เขาเล่าว่าในย่านที่เขาอาศัย ขนมจากบริษัท Frito-Lay อย่าง เลย์, ฟริโตส, รัฟเฟิล และชีโตส ถูกวางข้างๆ ชั้นเครื่องเทศของชาวเม็กซิกัน แต่สินค้าของบริษัทนี้ไม่มีอะไรรสชาติเผ็ดร้อนเลย เขาจึงคิดว่านี่น่าจะเป็นไอเดียใหม่ในการผลิตขนมได้

    เขาได้รับแรงบันดาลใจจาก "Elote" เมนูอาหารยอดนิยมของชาวเม็กซิกัน มันคือข้าวโพดย่างเนยที่ผสมผสานไปด้วย มายองเนส พริกป่น และมะนาว ทำให้เขามองว่า เขาสามารถสร้างขนมชีโตสในรสชาติของตัวเองได้ ริชาร์ดหยิบถุงพลาสติกจำนวน 100 ถุงที่เขาเตรียมออกมา ในนั้นมีขนมชีโตสจากโรงงานที่ไม่ได้เคลือบผงชีสเหมือนปกติ แต่เคลือบด้วยเครื่องเทศที่เขาผสมเอง จากเมนูอาหาร Elote

    เขาปิดผนึกถุงพลาสติกด้วยเตารีด และวาดโลโก้ด้วยมือทีละอัน เมื่อมาถึงตอนนี้ ห้องประชุมเต็มไปด้วยความเงียบ จนผ่านไปครู่หนึ่ง ซีอีโอได้เอ่ยคำพูดว่า "เอาไม้ถูพื้นของคุณออกไป คุณมาทำงานกับเราได้"

    ขนมชีโตสเคลือบเครื่องเทศของเขา ได้รับการนำไปผลิตจริงๆ ในชื่อว่า Flamin’ Hot Cheetos มันกลายเป็นหนึ่งในรสชาติที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของขนมยี่ห้อชีโตสเลยทีเดียว ไอเดียของริชาร์ดเปลี่ยนชีวิตการเป็นภารโรงของเขาไปตลอดกาล เขาได้ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารของ Frito-Lay และ PepsiCo ในเวลาต่อมา ริชาร์ดมีทรัพย์สินกว่า 20 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 600 ล้านบาท

.

    เรื่องราวของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คน แถมยังได้มีการนำเอาชีวิตของเขาไปสร้างเป็นภาพยนตร์อีกด้วย ริชาร์ดพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ว่าต้นทุนคุณจะน้อยแค่ไหน แต่หากไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง รวมถึงพยายามอย่างถึงที่สุดเมื่อมีโอกาส คุณก็สามารถพลิกชีวิตเป็นมหาเศรษฐีแบบเขาคนนี้ได้

ที่มา : ankithharathi, เพชรมายา

บทความที่คุณอาจสนใจ